Wednesday 22 February 2012

วิธีดู MOS : Margin of Sefty เพื่อการเลือกลงทุนในหุ้นที่ปลอดภัย

เชื่อว่าผู้ลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) ซึ่งเป็น Value Investors ที่มีชื่อเสียงก้องโลก แต่มีอีกผู้หนึ่งที่ชื่อเสียงอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นหูเท่ากับบัฟเฟตต์ แต่ถ้าเป็นผู้ลงทุนที่ลงทุนมาระยะเวลาหนึ่งย่อมต้องรู้จัก เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) เพราะเขาผู้นี้เคยเป็นอาจารย์ของ บัฟเฟตต์ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่เป็นแม่แบบของการลงทุนแบบเน้นคุณค่ายุคบุกเบิก บัฟเฟตต์ยังประกาศว่าที่เขาโด่งดังมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็มาจากพื้นฐานที่เกรแฮมได้ปูไว้และถูกนำมาประยุกต์อีกต่อหนึ่ง หลายคนยกย่องให้เกรแฮมเป็น “The Father of Financial Analysis and Value Investing” และ “Dean of Wall Street”

เกรแฮมเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี 2 เล่มที่บัฟเฟตต์แนะนำว่าเป็นหนังสือที่ผู้ลงทุนทุกคนต้องอ่าน “The Intelligent Investor” และ “Security Analysis” หลักการลงทุนของเกรแฮมเน้นที่การวิเคราะห์ทางการเงินของบริษัทซึ่งลงทุนโดย พิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทและเงินปันผลที่ได้รับเป็นหลัก โดยสิ่งที่ผู้ลงทุนจดจำเกรแฮมได้ก็คือ ปรัชญาด้านการลงทุนของเขาที่เขามักจะพูดเสมอว่าประกอบขึ้นมาจากคำ 3 คำง่าย ๆ ก็คือ “Margin of Safety” - the price at which a share investment can be bought with minimal downside risk. หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัว ก็ได้ใจความว่า “ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย = ราคาหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้โดยมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ”

หลักการลงทุนของเกรแฮมเพื่อให้เกิด Margin of Safety พอสรุปได้ดังนี้

  1. ลงทุนในบริษัทใหญ่ที่มียอดขายดี
  2. ลงทุนในบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผล
  3. ลงทุนในบริษัทที่มีสภาพคล่องสูง มี Current Assets > (Current and Long term Debt) มี Cash Flow ดี และมีภาระหนี้ต่ำ
  4. ลงทุนในบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน คือมีความมั่นคงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
  5. เน้นการวิเคราะห์อัตราส่วนราคา (Price Multiples) โดยดูจากค่า P/E โดยต้องมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และค่า P/VB < 1.2 เท่า (Book Value = Total Assets – Total Liabilities)

แต่ถ้าจะให้อธิบาย Margin of Safety ให้ละเอียดขึ้นก็คือ การลงทุนด้วยการพิจารณาที่มูลค่าที่แท้จริงของกิจการว่ามีค่าเป็นเท่าไรต่อ หุ้น หากเราสามารถซื้อหุ้นนั้นได้ถูกกว่าค่านี้ ก็หมายถึงว่าสามารถซื้อได้ในราคาที่มีส่วนลด และเขาเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ราคาของหุ้นจะต้องปรับไปสู่ราคาที่เหมาะสมของมันเสมอ และผู้ลงทุนก็สามารถขายหุ้นนั้นออกไปในราคาที่มีกำไรจากส่วนต่าง


เกรแฮมได้แนะนำวิธีการค้นหาหุ้นที่มี Margin of Safety ไว้โดยได้ตั้งเกณฑ์ไว้ 10 ข้อ และบริษัทใดก็ตามที่ตรงตามเกณฑ์ 7 จาก 10 ข้อนี้ถือว่าผ่าน โดยกฎเกณฑ์ข้อที่ 1-5 จะประเมินเรื่องความเสี่ยง ข้อที่ 6-8 จะดูในเรื่องความแข็งแกร่งทางการเงิน ข้อ 9-10 จะแสดงประวัติผลกำไรที่สม่ำเสมอ และต่อไปนี้คือเกณฑ์ 10 ข้อที่กล่าวถึงครับ

  1. มีอัตราส่วนผลกำไรต่อราคา หรือ E/P (ตรงข้ามกับ P/E) เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนของหุ้นกู้ ระดับ AAA เช่น ถ้าหุ้นกู้ ระดับ AAA ให้ผลตอบแทน 6% อัตราส่วน ผลกำไรต่อราคา ก็ควรจะเป็น 12%
  2. มีค่า P/E ไม่สูงกว่า 40% ของค่าเฉลี่ยสูงสุดของหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  3. ให้ผลตอบแทนเงินปันผลเป็น 2 ใน 3 ของดอกเบี้ยหุ้นกู้ ระดับ AAA ซึ่งนี่ก็เป็นการตัดหุ้นที่ไม่จ่ายเงินปันผลหรือไม่มีกำไรออกโดยอัตโนมัติ
  4. มีราคาหุ้นเพียง 2 ใน 3 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่มีตัวตนต่อหุ้น (Tangible Book Value per Share) สินทรัพย์ที่มีตัวตนจะหมายถึง เงินสด และสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักรอุปกรณ์ และ เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน สินทรัพย์ถาวร ที่บริษัทชำระเงินหมดแล้ว
  5. มีราคาหุ้นเพียง 2 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ
  6. มีหนี้สินทั้งหมดในจำนวนที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่มีตัวตน
  7. มีอัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio)>= 2 เพราะเป็นตัววัดสภาพคล่อง หรือความสามารถในการชำระหนี้สินจากรายได้ของบริษัท
  8. มีหนี้สินรวมไม่สูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ
  9. มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  10. มีผลกำไรลดลงไม่เกิน 5% และไม่เกิน 2 ครั้งในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา

เกรแฮมบอกว่าถ้าสามารถค้นหาหุ้นที่มี Margin of Safety ได้ก็เหมือนกับว่าการลงทุนในครั้งนั้นๆ มีแต่จะสร้างกำไร และมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำอีกด้วย สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มก็อาจจะหาหนังสือของเกรแฮมมาอ่านเพิ่ม เติม และถ้าสนใจหนังสือของบัฟเฟตต์ทั้งภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านเซ็ทเทรด ดอท คอม ด้านหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือถ้าอยากอ่านข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลทั้ง 2 ก็ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.buffettsecrets.com ซึ่งข้อมูลบางส่วนของบทความนี้ก็นำมาจากเว็บไซต์นี้เช่นกันครับ