Wednesday 22 February 2012

วิธีดู MOS : Margin of Sefty เพื่อการเลือกลงทุนในหุ้นที่ปลอดภัย

เชื่อว่าผู้ลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) ซึ่งเป็น Value Investors ที่มีชื่อเสียงก้องโลก แต่มีอีกผู้หนึ่งที่ชื่อเสียงอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นหูเท่ากับบัฟเฟตต์ แต่ถ้าเป็นผู้ลงทุนที่ลงทุนมาระยะเวลาหนึ่งย่อมต้องรู้จัก เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) เพราะเขาผู้นี้เคยเป็นอาจารย์ของ บัฟเฟตต์ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่เป็นแม่แบบของการลงทุนแบบเน้นคุณค่ายุคบุกเบิก บัฟเฟตต์ยังประกาศว่าที่เขาโด่งดังมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็มาจากพื้นฐานที่เกรแฮมได้ปูไว้และถูกนำมาประยุกต์อีกต่อหนึ่ง หลายคนยกย่องให้เกรแฮมเป็น “The Father of Financial Analysis and Value Investing” และ “Dean of Wall Street”

เกรแฮมเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี 2 เล่มที่บัฟเฟตต์แนะนำว่าเป็นหนังสือที่ผู้ลงทุนทุกคนต้องอ่าน “The Intelligent Investor” และ “Security Analysis” หลักการลงทุนของเกรแฮมเน้นที่การวิเคราะห์ทางการเงินของบริษัทซึ่งลงทุนโดย พิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทและเงินปันผลที่ได้รับเป็นหลัก โดยสิ่งที่ผู้ลงทุนจดจำเกรแฮมได้ก็คือ ปรัชญาด้านการลงทุนของเขาที่เขามักจะพูดเสมอว่าประกอบขึ้นมาจากคำ 3 คำง่าย ๆ ก็คือ “Margin of Safety” - the price at which a share investment can be bought with minimal downside risk. หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัว ก็ได้ใจความว่า “ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย = ราคาหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้โดยมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ”

หลักการลงทุนของเกรแฮมเพื่อให้เกิด Margin of Safety พอสรุปได้ดังนี้

  1. ลงทุนในบริษัทใหญ่ที่มียอดขายดี
  2. ลงทุนในบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผล
  3. ลงทุนในบริษัทที่มีสภาพคล่องสูง มี Current Assets > (Current and Long term Debt) มี Cash Flow ดี และมีภาระหนี้ต่ำ
  4. ลงทุนในบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน คือมีความมั่นคงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
  5. เน้นการวิเคราะห์อัตราส่วนราคา (Price Multiples) โดยดูจากค่า P/E โดยต้องมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และค่า P/VB < 1.2 เท่า (Book Value = Total Assets – Total Liabilities)

แต่ถ้าจะให้อธิบาย Margin of Safety ให้ละเอียดขึ้นก็คือ การลงทุนด้วยการพิจารณาที่มูลค่าที่แท้จริงของกิจการว่ามีค่าเป็นเท่าไรต่อ หุ้น หากเราสามารถซื้อหุ้นนั้นได้ถูกกว่าค่านี้ ก็หมายถึงว่าสามารถซื้อได้ในราคาที่มีส่วนลด และเขาเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ราคาของหุ้นจะต้องปรับไปสู่ราคาที่เหมาะสมของมันเสมอ และผู้ลงทุนก็สามารถขายหุ้นนั้นออกไปในราคาที่มีกำไรจากส่วนต่าง


เกรแฮมได้แนะนำวิธีการค้นหาหุ้นที่มี Margin of Safety ไว้โดยได้ตั้งเกณฑ์ไว้ 10 ข้อ และบริษัทใดก็ตามที่ตรงตามเกณฑ์ 7 จาก 10 ข้อนี้ถือว่าผ่าน โดยกฎเกณฑ์ข้อที่ 1-5 จะประเมินเรื่องความเสี่ยง ข้อที่ 6-8 จะดูในเรื่องความแข็งแกร่งทางการเงิน ข้อ 9-10 จะแสดงประวัติผลกำไรที่สม่ำเสมอ และต่อไปนี้คือเกณฑ์ 10 ข้อที่กล่าวถึงครับ

  1. มีอัตราส่วนผลกำไรต่อราคา หรือ E/P (ตรงข้ามกับ P/E) เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนของหุ้นกู้ ระดับ AAA เช่น ถ้าหุ้นกู้ ระดับ AAA ให้ผลตอบแทน 6% อัตราส่วน ผลกำไรต่อราคา ก็ควรจะเป็น 12%
  2. มีค่า P/E ไม่สูงกว่า 40% ของค่าเฉลี่ยสูงสุดของหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  3. ให้ผลตอบแทนเงินปันผลเป็น 2 ใน 3 ของดอกเบี้ยหุ้นกู้ ระดับ AAA ซึ่งนี่ก็เป็นการตัดหุ้นที่ไม่จ่ายเงินปันผลหรือไม่มีกำไรออกโดยอัตโนมัติ
  4. มีราคาหุ้นเพียง 2 ใน 3 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่มีตัวตนต่อหุ้น (Tangible Book Value per Share) สินทรัพย์ที่มีตัวตนจะหมายถึง เงินสด และสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักรอุปกรณ์ และ เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน สินทรัพย์ถาวร ที่บริษัทชำระเงินหมดแล้ว
  5. มีราคาหุ้นเพียง 2 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ
  6. มีหนี้สินทั้งหมดในจำนวนที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่มีตัวตน
  7. มีอัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio)>= 2 เพราะเป็นตัววัดสภาพคล่อง หรือความสามารถในการชำระหนี้สินจากรายได้ของบริษัท
  8. มีหนี้สินรวมไม่สูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ
  9. มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  10. มีผลกำไรลดลงไม่เกิน 5% และไม่เกิน 2 ครั้งในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา

เกรแฮมบอกว่าถ้าสามารถค้นหาหุ้นที่มี Margin of Safety ได้ก็เหมือนกับว่าการลงทุนในครั้งนั้นๆ มีแต่จะสร้างกำไร และมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำอีกด้วย สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มก็อาจจะหาหนังสือของเกรแฮมมาอ่านเพิ่ม เติม และถ้าสนใจหนังสือของบัฟเฟตต์ทั้งภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านเซ็ทเทรด ดอท คอม ด้านหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือถ้าอยากอ่านข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลทั้ง 2 ก็ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.buffettsecrets.com ซึ่งข้อมูลบางส่วนของบทความนี้ก็นำมาจากเว็บไซต์นี้เช่นกันครับ

Tuesday 5 January 2010

แหล่ง Download ข้อมูล Metastock ย้อนหลัง เอามาให้แบบเนียนๆครับ

เอามาจากเว็บไซท์ของเอเซียพลัสครับ ตามนี้เลย

http://inv3.asiaplus.co.th/cms/index.php?sc=res_present&tab=dm&ln=t

Thursday 31 December 2009

ปี 2552 ยุคทอง การลงทุน กำเนิด 5 เซียนหุ้น แบบพลิกตำรารวย

ช่วงต้นเดือน มี.ค. SET Index ลงต่ำสุด 408.78จุด ก่อนจะวิ่งแรลลี่ 7 เดือนเต็มๆ ขึ้นไป 758 จุดกลายเป็น 'ปีทอง' ของนักลงทุน

"เสียป๋อง" วัชระ แก้วสว่าง
เซียนหุ้นเก็งกำไรรายใหญ่ระดับ "หลายร้อยล้านบาท" ผู้ให้คำนิยามตลาดหุ้นไทยว่า "ซึมนาน-คลานเป็นเต่า-เศร้าเป็นปี-สุขีประเดี๋ยวเดียว" จากประสบการณ์ที่เล่นหุ้นมานาน 17 ปี ได้ข้อสรุปว่า การถือเงินสด และมองโลกในแง่ร้ายบ้าง คือ กลยุทธ์ที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งสไตล์การลงทุนที่ดีที่สุด คือ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ช่วงที่ต้องเล่นสั้นก็ต้องเล่นสั้น ช่วงที่ลงทุนระยะกลางได้ก็ต้องถือ เพราะตลาดหุ้นไทยช่วงเวลาแห่งความสุขมันมีน้อย ถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ยาก

ถ้าหุ้นขึ้นมาแล้ว 30% ก็ต้องมาดู "รูปทรงกราฟ" ว่าจะไปต่อไหวก็เล่นต่อแต่ซื้อปริมาณน้อยลง ใครก็เสียวทั้งนั้นแหละ!! ในตลาดหุ้นเราต้องถือคติว่า "เหนือฟ้ายังมีฟ้า..บนสวรรค์ก็ไม่รู้มีตั้งกี่ชั้น ถ้าตอนหุ้นตกในนรกก็ไม่รู้มีกี่ขุม ไม่มีคำว่าถูกว่าแพงในตลาดหุ้น"

สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องรู้ตัวหุ้น..รู้นิสัยหุ้น ต้องดูประวัติหุ้น ต้องรู้ว่าหุ้นตัวนี้ปีนี้มี Growth มั้ย! เราก็จะรู้แล้วว่าพื้นฐานหุ้นเป็นยังไง สุดท้ายก็ต้องมาดู "จุดซื้อด้านเทคนิค" จะช่วยให้ประหยัดเวลาเหมือนขึ้นรถเมล์ถูกสายไม่ต้องรอนาน ถ้าบรรยากาศตลาดไม่ดี ใช้รถถัง ใช้ปืนกล ก็ไม่คุ้ม สมมติว่าคนหนึ่งพกมีดมา คนหนึ่งพกปืนมา คนที่ใช้มีดเขาก็หากินได้ มันเหมือนกับเรามีเครื่องมือแค่ตัวใดตัวหนึ่งขอให้ใช้ให้เก่งก็หากินได้

วันนี้เสี่ยป๋องให้นิยามตัวเองว่าเป็น "นักเก็งกำไรหุ้นพื้นฐาน" ที่ส่วนใหญ่จะเล่นเก็งกำไรหุ้นบิ๊กแคป เขามีความเชื่อส่วนตัวว่าสุดท้ายแล้วคนเล่นหุ้น 100 คน จะแค่มี 20 คน ที่รอดตายจากตลาดหุ้น โดยคนที่ 1-5 จะรวยมหาศาล พวกนี้ไม่น่าห่วง ส่วนคนที่ 5-10 ก็จะรวยมาก ซึ่งตัวเองอาจอยู่อันดับ 8 (รวยมาก) ส่วนคนที่ 10-20 จะรวยแบบดูแลตัวเองได้ นอกจากนั้นอีก 80% ไม่เคยรอดพ้นน้ำมือตลาดหุ้น หากยังไม่รู้เทคนิคการเล่นหุ้นที่เหมาะสมกับตัวเอง

พิชัย จาวลา กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลากรุ๊ป
นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 42 ปี ที่มีฐานธุรกิจอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดหุ้น เขาไม่ใช่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหรือมีพอร์ตลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท แต่พิชัยเป็น "นักคิด" ที่กล้านำเสนอความจริงที่แตกต่าง เขาเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ "เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง" ขณะเดียวกันพิชัยยังมีบทบาทเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีพอร์ตลงทุนในระดับ 10-20 ล้านบาท

ทำไม! ตลาดหุ้นไทยถึงเป็น "หลุมฝังศพ" รายย่อยรุ่นแล้วรุ่นเล่า บทสรุปหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นไม่ใช่ Fair Game สำหรับคนส่วนใหญ่ "หมูสนาม" ส่วนใหญ่แท้จริงก็เป็น "เซียน" ในอาชีพของตัวเองกันมาทั้งนั้น

พิชัยเริ่มเข้าตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไปเล่นหุ้นตามข่าว เลยต้องย้อนกลับมาหา "เหตุ" ว่าทำไมถึงขาดทุน และเขาก็ได้ข้อสังเกตว่า "ผู้ชนะ" ในตลาดหุ้นจะเป็นเพียง "คนกลุ่มน้อย" เหมือนกับทฤษฎี 80:20 ที่บอกว่าคนส่วนน้อยเพียง 20% จะเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ 80% เสมอ

"ทฤษฎีผลประโยชน์" ที่พิชัยคิดขึ้นหลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจากข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด "สองชั้น" คือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง “ตรงข้าม”

หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นขึ้นลงตาม "เหตุผล" แท้ที่จริงแล้วเหตุผลเป็นเพียง "ข้ออ้าง" ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา

"ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ในที่สุดจะได้กำไรและคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน"

เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะทำกำไรจากตลาดหุ้นคุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผล เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลเหมือนคนส่วนใหญ่

"ผมคิดว่าสูตรการทำธุรกิจกับลงทุนหุ้นให้สำเร็จมีความใกล้เคียงกันคือต้องพิจารณาจาก “ตัวเล่น” และ “จังหวะเวลา” การทำธุรกิจต้องการเหตุผลมากกว่าและมีโอกาสเติบโตเอาชนะเศรษฐกิจได้โดยปัจจัยเรื่องของเวลาเป็นเรื่องรอง แต่ตลาดหุ้นคุณต้องเลือกให้ถูกทั้ง "ตัวหุ้น" และ "จังหวะเวลา" ซึ่งบ่อยครั้งตลาดหุ้นมักใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล"

พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส ซึ่งบทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัวและจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังกล้า

ทวีฉัตร จุฬางกูร
ส่วนเซียนหุ้นรายนี้เป็นหลานชาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นทายาท สรรเสริญ จุฬางกูร เจ้าของอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน "ซัมมิทกรุ๊ป" ที่สำคัญทวีฉัตรเป็นเจ้าของพอร์ตหุ้น "หลายพันล้านบาท" ปัจจุบันเขามีอายุเพียง 37 ปี และวันนี้เจ้าตัวขอ "โกอินเตอร์" เทรดหุ้นข้ามชาติถึง 3 ประเทศที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

จากการสำรวจพอร์ตลงทุนของทวีฉัตรในปี 2552 พบว่า มีเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากกว่า 20 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 2,300 ล้านบาท ขณะที่เจ้าตัวบอกเองว่ามีหุ้นอยู่ทั้งหมดประมาณ 50 บริษัท แต่แอ็คทีฟแค่ 10 บริษัท

ทวีฉัตร บอกว่า ปีนี้ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุน "เทรดหุ้นน้อยลง และถือยาวมากขึ้น" ทำให้มีกำไรจากการลงทุนมากกว่าปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะกังวลเรื่องการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี นอกจากนี้ยังหันไปซื้อขายหุ้นในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนดีที่สุด และไม่มีเรื่องการเมืองให้ต้องกังวลใจ ตรงกันข้ามตลาดหุ้นบ้านเรามีความเสี่ยงสูงเกือบทุกเรื่อง

เขาเล่าว่า หุ้นส่วนใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศอยู่ในกลุ่มรถยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มอาหาร และกลุ่มเสื้อผ้า ส่วนตัวมองว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหุ้นเหล่านี้จะมาก่อนเพื่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะฟื้นตัวในไม่ช้านี้ ส่วนการลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้ให้น้ำหนักที่หุ้นพี/อีต่ำ หรือหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี แต่จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความเข้าใจในธุรกิจนั้นเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ทวีฉัตรยังบอกด้วยว่า ส่วนตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้หุ้น "เทิร์นอะราวด์" ส่วนหลักการลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้แตกต่างไปจากนักลงทุนทั่วไปวิเคราะห์หุ้น ประการแรก ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์และมีนโยบายในการบริหารงานที่ดี มีประวัติน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใส ประการต่อมา พิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่สนใจว่าแข็งแกร่งมากขนาดไหน และประการสุดท้าย จะดูกราฟทางเทคนิคในการลงทุน แต่การดูกราฟทางเทคนิคจะทำกับหุ้นบางตัวเท่านั้น เพราะไม่ถนัดที่จะทำแบบนี้กับหุ้นทุกตัว

ส่วนการจัดน้ำหนักพอร์ตลงทุนขึ้นอยู่ที่ความพึงพอใจ และสถานการณ์ต่างๆ มากกว่า ไม่เคยกำหนดเป็นหลักการ และก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีกำไรเท่าไรถึงจะ "ขาย" ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น

"บางครั้งได้กำไรแค่ 10% ผมก็ "โกย" แล้ว เรื่องพวกนี้บอก (สอน) กันไม่ได้จริงๆ ทุกคนก็มีเทคนิคการลงทุนเป็นของตัวเอง..วันนี้ผมค่อนข้างกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ต่างประเทศเขาแก้ปัญหากันไปหมดแล้ว บ้านเรายังไปไม่ถึงไหนเลย"

"เสี่ยปู่" สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล
ท่ามกลางวิกฤติ เสี่ยปู่กลับมองเป็นโอกาสสำคัญเข้าสะสมหุ้น "ราคาถูก" สร้างความร่ำรวยเพิ่มขึ้นได้ทุกครั้ง

ปัจจุบันเสี่ยปู่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ระดับ "พันล้านบาท" ที่ร่ำรวยมาจากเงินทุนประเดิมไม่ถึง 1 ล้านบาท เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว วันนี้เสี่ยปู่เลือกเส้นทางเดินในฐานะ "แวลู อินเวสเตอร์" ตามรอย วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เขาลงทุนอ่านหนังสือของบัฟเฟตต์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็น 10 รอบ

สำหรับวิกฤติในปี 2551-2552 เสี่ยปู่ซุ่มเก็บหุ้นราคาถูกไว้จำนวนมาก โดยยังโฟกัสไปที่หุ้น "เทิร์นอะราวด์" บริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดใหญ่ที่ปัจจัยพื้นฐานดี

"วิกฤติซับไพร์มของสหรัฐอเมริกา และวิกฤติการเงินโลก อาจทำให้นักลงทุนหลายคนกลัว แต่สำหรับผมมันคือโอกาสการทำกำไรครั้งสำคัญ" เสี่ยปู่บอก และสิ่งที่เขามองต่างออกไปจากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มักยึดตัว SET Index เป็นตัวตั้ง และรีบขายหุ้นทำกำไรเพราะคิดว่า..เดี๋ยวหุ้นก็ลง

แต่วิกฤติหลายครั้งในตลาดหุ้นสอนเสี่ยปู่ว่า หลังวิกฤติต้อง "ถือรอ" จนกว่าราคาหุ้นนั้นจะสะท้อนการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และหุ้นที่จะสร้างผลตอบแทนได้มากต้องเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีที่กำลังจะ "เทิร์นอะราวด์" โดยพิจารณาจากหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่า Book Value และให้ผลตอบแทน เงินปันผลสูง

เสี่ยปู่บอกว่า การซื้อหุ้นจะมีหลักพิจารณา 3 ข้อหลักๆ คือ

1. ดูปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่จะลงทุนอย่างละเอียด โดยจะเน้นเป็นพิเศษคือ "งบการเงิน" บริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีจะเป็นตัวบ่งบอกทิศทางราคาหุ้นได้ค่อนข้างชัดเจน

"ผมจะย้อนดูว่าบริษัทนี้มีกำไรเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ และมองต่อไปว่าบริษัทนี้ผลการดำเนินงานมีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 20% หรือไม่"

2. ดูบริษัทที่หุ้นมีราคาต่ำกว่า Book Value ถ้าบริษัทนั้นมีทิศทางการเติบโตที่ดีแต่ราคาหุ้นยังซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี หุ้นตัวนั้นก็ยิ่งน่าสนใจ

3. จะดูลักษณะกิจการและดูรายรับต้องมากกว่ารายจ่าย (ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด หรือ EBITDA) เพราะจะเป็นตัวชี้ว่าถึงสิ้นปีบริษัทนี้จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในระดับเท่าใด

"ผมเชื่อว่าหลักการเพียงเท่านี้ก็ทำกำไรได้แล้ว ผมจะแฮปปี้มากถ้าหุ้นที่ลงทุนให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลได้ประมาณ 10% ถ้าได้ขนาดนี้จะถือยาวไม่ยอมปล่อย"

เสี่ยปู่ให้ข้อคิดปิดท้ายว่า ทุกวิกฤติย่อมมาพร้อมกับโอกาสเสมอ อยู่ที่ว่าใครจะจับจังหวะถูกและกล้าเข้าไปซื้อหรือไม่ คนที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ต้องทำการบ้านสม่ำเสมอและแม่นในข้อมูลถึงจะรวยได้


"เซียนนิค" สง่า ตั้งจันสิริ
สำหรับเซียนหุ้นคนสุดท้าย ที่เริ่มลงหุ้นจากเงินก้อนแรก 500,000 บาท เล่นหุ้น 4 ปี วันนี้เขามีพอร์ตแล้ว 50 ล้านบาท ชายหนุ่มวัย 32 "โนเนม" แต่ไม่ "โนวิชั่น" เขาเป็นหลานชาย ไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้ง บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ ทียูเอฟ บริษัทผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก

เคล็ดลับห้าข้อที่สง่าใช้ลงทุนแล้วประสบความสำเร็จก็คือ 1. ต้องกระจายความเสี่ยง 2. รู้ให้มากกว่าคนอื่นหนึ่งก้าว 3. Cut Loss เป็น..อย่าดื้อ 4. เมื่อถึงเป้าหมายต้องพอ และ 5. ต้องมีเงินสดติดกระเป๋าไว้เสมอ

วิธีการลงทุนของเซียนหุ้นรายนี้ เขาจะแบ่งพอร์ตลงทุนออกเป็น "สามส่วน" คือ สั้น-กลาง-ยาว ถ้าเป็นหุ้นบลูชิพชั้นดี "เกรดเอ" ถ้าถือต้นทุนต่ำก็จะถือยาว 2-3 ปี โดยจะดูที่ Dividend Yield ถ้าอยู่ประมาณ 5-6% ก็จะถือไว้กินปันผล

ส่วนพอร์ต "ระยะกลาง" จะเน้นหุ้นกลุ่มแบงก์กับอสังหาริมทรัพย์ ถ้าเป็นพอร์ต "ระยะสั้น" ก็จะเน้นเล่นหุ้นหวือหวาโดยจะ "เล่นตามข่าว" ในกลุ่มหุ้นที่มี "สตอรี่" ถ้าเล่นสั้นจะไม่ถือนาน แต่บางครั้งจะสลับตัวเล่น "กลาง-สั้น" ตามความเหมาะสม

สิ่งที่เซียนหุ้นรายนี้ต้องท่องเป็นประจำคือ "อย่าโลภมาก" และหุ้นทุกตัวที่เข้าไปลงทุนจะต้องตั้ง "เป้าหมายกำไร" เมื่อถึงเป้าก็ต้องขายโดยปกติจะตั้งไว้ที่ 20% และตั้งจุด Stop Loss (หยุดขาดทุน) ไว้ที่ลง 10% ต้องตัดขายทันที

เซียนนิคให้แง่คิดว่า จากประสบการณ์ถ้าอยากได้กำไรเยอะๆ ต้องเล่นหุ้นขนาดกลางหรือเล็กที่ "พื้นฐานดี" และธุรกิจกำลังจะ "เทิร์นอะราวด์" แต่ราคาหุ้นยังต่ำ หุ้นพวกนี้เวลาขึ้นมีโอกาสได้กำไรเกิน 20% ในเวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นหุ้นขนาดใหญ่จะมีโอกาสแบบนี้ไม่บ่อย เขาย้ำว่า การลงทุนในตลาดหุ้นคือการอยู่กับอนาคต อย่าดูแต่ปัจจุบัน ต้องมองไปข้างหน้าเสมอ

ที่สำคัญในตลาดหุ้นอะไรก็ไม่แน่นอน ต้องมี "เงินสดติดกระเป๋า" ไว้ตลอดเวลา ถ้ามีเงิน 100 บาท ส่วนตัวจะต้องเก็บเงินสดไว้ 40% เสมอ เพราะโอกาสซื้อ “ของถูก” ไม่ได้มีมาบ่อยๆ โดยเขายกสัจธรรมที่สุดแสนจะเบสิคแต่ใช้ได้ดีเสมอว่า “จงเข้าซื้อเมื่อหุ้นตก และจงขายเมื่อหุ้นขึ้น”

ส่วนหลักการจำกัดความเสี่ยง ง่ายๆ คือ อย่าไปลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้ หรือรู้น้อยกว่าคนอื่น จะต้องรู้ให้มากกว่าคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ เพราะข้อจำกัดของตลาดหุ้นไทยคือ ตลาดเล็กและคนมีเงินเยอะๆ สามารถคุมตลาดได้ ส่วนเราคุมตลาดไม่ได้ถ้ารู้ทีหลังค่อนข้างเสียเปรียบ

"ผมมองว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ใจไม่เย็นพอ และบางคนเอาเงินร้อนมาเล่นแต่ผมจะใช้เงินเย็นมาลงทุน และไม่เคยซี้ซั้วจะค่อยๆ ดูทีละตัว"

สง่าสรุปปิดท้ายว่า ขาดทุนต้องรับกับมันได้ ถ้ากำไรอย่าดีใจกับมันมาก เห็นหุ้นวิ่งอย่าแหกกฎของตัวเอง เหมือนกฎหมายถ้าใครไม่ทำตามมันก็มีบทลงโทษรออยู่ ถ้าคิดว่าทำตามไม่ได้ก็อย่าตั้งกฎให้ตัวเอง